[ 3G คืออะไร? ]
หากให้อธิบายอย่างง่าย ๆ 3G ก็เปรียบเสมือน “อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโทรศัพท์มือถือ” นั่นเอง
นอกเหนือไปจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือเพื่อการสนทนา หรือส่งข้อความแล้ว การติดต่อทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเครือข่ายสังคม (Social Network) และใช้งานบริการต่าง ๆ ที่ปกติเคยมีแต่บนคอมพิวเตอร์ อย่างอีเมลและการแชท (Chat) ก็แพร่หลายมาตั้งแต่ยุค 2G จนกลายเป็นการใช้งานหลักบนโทรศัพท์มือถือในทุกวันนี้ไปเสียแล้ว
iPhone รุ่นแรก ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2007 ซึ่ง 3G ยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากในขณะนั้น แม้แต่สหรัฐฯเอง 3G ก็ไม่ได้เป็นที่นิยมนัก เพราะด้วยเทคโนโลยีที่ยังไม่เร็วพอ กับราคารายเดือนที่สูงอยู่
ดังนั้น กว่า iPhone จะเริ่มรองรับ 3G ก็ปาไปรุ่นที่สองในปี 2008 หรือใน iPhone 3G นั่นเอง
เมืองไทยเองก็เพิ่งจะได้ใช้ 3G จริง ๆ จัง ๆ ในปีนี้ เมื่อ dtac และ AIS เริ่มให้บริการ 3G ในเขตเมืองใหญ่ อาทิ กรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นต้น
[ วิวัฒนาการของ 3G ]
“แล้ว 3G แตกต่างจาก 2G อย่างไร?”
คำว่า 3G นั้นย่อมาจาก “3rd Generation” หรือยุคที่ 3 ของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ
หากย้อนเวลากลับไป เราจะพบว่า โทรศัพท์มือถือพึ่งถือกำเนิดขึ้นราวปี 1973 (พ.ศ. 2516) เท่านั้น
และกว่าจะถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ก็อีก 6 ปีให้หลัง ในปี 1979 (พ.ศ. 2522) เมื่อ NTT Docomo ได้วางเครือข่าย “1G” ขึ้นในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเชิงพานิชย์ครั้งแรกของโลก
เครือข่าย 1G นั้นมีจุดอ่อนในเรื่องของระบบสัญญาณ ที่เป็นสัญญาณ Analog หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องการ “จูนคลื่นสัญญาณ” และ “การดักฟังโทรศัพท์” สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคนี้นั่นเอง
กว่าสิบปีให้หลัง ในปี 1991 (พ.ศ. 2534) ระบบเครือข่ายโทรศัพท์ Digital “GSM” ที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “2G” ก็กำเนิดขึ้นในประเทศฟินแลนด์ และแพร่หลายไปทั่วโลก
ระบบ Digital นั้นกำจัดจุดบกพร่องของระบบ Analog ทิ้งไป รวมถึงนำบริการใหม่ ๆ มาสู่โทรศัพท์มือถือด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริการส่งข้อความ (SMS) หรือการเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต
(โทรศัพท์มือถือ 3G ในยุคแรก ๆ ยังต้องมีเสาสัญญาณยื่นออกมาเพื่อการรับสัญญาณที่ดี)
สิบปีถัดมา NTT Docomo เจ้าเดิม ได้ให้บริการ “3G” ขึ้นครั้งแรกในโลกที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2001 (พ.ศ. 2544) โดยชูจุดขายเรื่องความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สูงถึง 384kbps เมื่อเทียบกับอินเทอร์เน็ตตามบ้านสมัยนั้น ที่มีความเร็วเพียง 56kbps แล้ว ถือว่าเป็นความเร็วที่สูงกว่ามาก
แต่เทคโนโลยี 3G กลับยังไม่แพร่หลายอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการอัพเกรดเครือข่ายที่สูงจนเกินไปในการวางระบบใหม่ ทำให้ทั่วโลกยังเลือกที่จะใช้งาน 2G กันต่อไป
ปี 2003 (พ.ศ. 2546) เทคโนโลยีทดแทน อย่าง “GPRS” และ “EDGE” ถูกนำมาใช้งานแทนที่ 3G ในขณะนั้น ด้วยเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายในการติดตั้งที่ประหยัดกว่า และผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ณ เวลานั้น ยังไม่พร้อมที่จะใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสักเท่าไร (ลองนึกถึงโทรศัพท์มือถือเมื่อเกือบสิบปีที่แล้วสิครับ เราใช้อะไรกันอยู่?)
ในที่สุด ปี 2008 (พ.ศ. 2551) เทคโนโลยี 3G ก็เริ่มแพร่หลายสู่สากลโลก โดยมาในเวอร์ชันอัพเกรด อย่าง “HSPA” หรือ 3.5G ที่ให้ความเร็วในการเชื่อมต่อสูงกว่าเทคโนโลยี 3G เดิมมาก กอปรกับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือมีสูงขึ้น ผู้ให้บริการจึงอัพเกรดเครือข่ายกันยกใหญ่ทั่วโลกนั่นเอง
[ อภิธานศัพท์ ]
GPRS หมายถึง General Packet Radio Service หรือเครือข่าย 2.5G มีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดที่ 56kbps
แต่ GPS คือ Global Position System ระบบระบุพิกัดที่ตั้ง โดยใช้ดาวเทียม ไม่เกี่ยวอะไรกับเครือข่ายมือถือเลย
EDGE ย่อมาจาก Enhanced Data rates for GSM Evolution หรือ GPRS เวอร์ชันอัพเกรด ให้ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดที่ 236.8kbps
ในปัจจุบัน ประเทศไทยใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่รองรับการใช้งาน EDGE ทั่วประเทศแล้ว
แต่ถึงกระนั้น GPRS และ EDGE มีข้อจำกัดด้านการรับ-ส่งข้อมูลอยู่ประการหนึ่ง คือไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์เพื่อโทรออก-รับสาย ไปพร้อม ๆ กับใช้อินเทอร์เน็ตได้
แต่ข้อจำกัดนี้ ถูกแก้ไขในเทคโนโลยียุค 3G ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “UMTS”
UMTS ย่อมาจาก Universal Mobile Telecommunications System เป็นโครงข่ายพื้นฐานของ 3G โดยมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดที่ 384kbps
แต่แค่ 3G ธรรมดานั้นไม่พอใช้แล้วในปัจจุบัน จึงมีการพัฒนาเครือข่าย 3G มาอย่างต่อเนื่อง แบ่งได้ ดังนี้
HSDPA ย่อมาจาก High-Speed Downlink Packet Access เป็นเทคโนโลยีที่เพิ่มขีดจำกัดด้านความเร็วในการดาวน์โหลด หรือรับข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต จากเดิม 384kbps เป็น 1.8Mbps (1800kbps) จนถึง 14Mbps
ในขณะเดียวกัน ก็มี HSUPA หรือ High-Speed Uplink Packet Access ช่วยเพิ่มความเร็วในการส่งข้อมูลเช่นกัน เมื่อนำทั้งสองตัวมารวมเข้า จึงเรียกใหม่ว่า HSPA (High-Speed Packet Access)
และขั้นสูงสุดของ HSPA คือ HSPA+ หรือชื่อทางการตลาดว่า 3.9G หรือ 3G+ ก็ได้เพิ่มขีดจำกัดสูงสุดของการรับ-ส่งข้อมูลไปถึง 42Mbps
ที่มา http://iphonesociety.com/