“อาจารย์คะ การถอดบทเรียนคืออะไรหรือคะ?” เป็นคำถามแรกที่ผู้ดูแลเด็กหลายคนต่างถามหาคำตอบจากผม หลังจากสิ้นเสียงประกาศผ่านไมค์ในเช้าวันเสาร์ว่า “วันนี้เราจะมาถอดบทเรียนกัน” หากอธิบายกันให้เข้าใจคงต้องขออนุญาตคัดข้อเขียนของรองศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา จันทร์คง มาอธิบายว่าเป็นวิธีการหนึ่งของการจัดการควมรู้ โดยเป็นกระบวนการดึงเอาความรู้จากทำงานออกมาใช้เป็นทุนในการทำงานเพื่อยกระดับให้ดียิ่งขึ้น การถอดบทเรียนเป็นการสกัดความรู้ที่มีอยู่ในตัวเราเอง (Tacit Knowledge) หรือความรู้ฝังลึก ออกมาเป็นบทเรียนหรือความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ซึ่งผลของการถอดบทเรียนทำให้ได้บทเรียนในลักษณะที่เป็นรูปธรรม และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันของผู้เข้าร่วมกระบวนการ นำมาซึ่งการปรับวิธีคิดและเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพยิ่งขึ้น โดยมีหัวใจหลักสำคัญของการถอดบทเรียน คือ การแลกเปลึ่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing)
อาจกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า การถอดบทเรียนในวันนี้ต้องเริ่มจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันเสียก่อน แล้วเราจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้อะไร? คงเป็นคำถามที่อาจตามมาทันที หน้าที่ของผู้สอนตอนนี้คือการพยายามดึงเอาความรู้ฝังลึกของผู้เรียนออกมาผ่านการตั้งคำถามหรือให้ผู้เรียนบอกเล่าสิ่งที่ดำเนินการ ปัญหา/อุปสรรค และวิธีการแก้ไขของเขา (หากไม่พบปัญหา/อุปสรรค ให้ถามด้วยว่าเพราะเหตุใดจึงไม่พบ ใช้วิธีการใด) สอบถามผู้เรียนภายในกลุ่มทีละคน ซึ่งวิธีการของผู้เรียนแต่ละคนที่ใช้แล้วได้ผลดีจะเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) เมื่อทุกคนแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีของตนแล้วจึงนำมาร่วมกันสรุปออกมาเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ร่วมกัน
ในการถอดบทเรียนมีตัวละครสำคัญหลายตัวทำหน้าที่ร่วมกันถอดบทเรียนให้ประสบความสำเร็จ แต่ตัวละครสำคัญตัวหนึ่งที่จะขอกล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ นั่นคือ คุณลิขิต หรือมือเขียนประจำกลุ่ม คุณลิขิตมีความสำคัญมากในฐานะนักจับประเด็นและจดบันทึกสิ่งที่เพื่อนสมาชิกบอกเล่า แล้วรวบรวมร้อยเรียงเนื้อความให้เติมเต็มสมบูรณ์ จึงต้องเป็นผู้ที่มีทักษะการฟังจับใจความและทักษะการเขียนดี ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการถอดบทเรียน
บทเรียนจากการถอดบทเรียนในวันนี้พบว่า ผู้สอนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการถอดบทเรียนร่วมกับผู้เรียนแต่ละกลุ่ม และสามารถเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งภายในกลุ่มได้ด้วย ได้แก่ ผู้อำนวยความสะดวก โดยทำหน้าดึงความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวผู้เข้าร่วมให้ผู้เข้าร่วมคนอื่น ๆ ได้เรียนรู้และร่วมแลกเปลี่ยนได้ เพราะผู้เรียนยังขาดประสบการณ์สำคัญบางอย่างที่ไม่สามารถดึงเอาความรู้ของตนออกมาได้เอง ผู้สอนจึงเป็นเหมือนกุุญแจสำคัญที่จะไขเอาความรู้ของผู้เรียนออกมาให้ได้มากที่สุด หากผู้สอนไม่แสดงบทบาทดังกล่าว การถอดบทเรียนวันนี้คงจะเป็นการถอดใจของผู้เรียนแทนอย่างแน่นอน