เทคนิคของผู้สอน

การจัดการเรียนการสอน ของโครงการ รมป.2 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557  นี้ มีนวัตกรรมการสอนเกิดขึ้นหลายอย่าง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ รองศาสตราจารย์ ดร.สุขุม เฉลมทรัพย์ ประธานคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ ปรับเปลี่ยนลักษณะของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้สอนแต่ละพื้นที่ โดยใช้วิธีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี (Good practice) แทนการพูดคุยกันใน line ปกติ  ทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างผู้สอนด้วยเช่นกัน ถ้าจะสรุปสิ่งที่ได้จากการพูดคุยในภาคเรียนที่ผ่านมา มีเป็นที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายประเด็น ซึ่งได้รวบรวมมาเพื่อเก็บรวบรวมไว้เป็นข้อมูลสำหรับผู้สอนท่านอื่นๆ ต่อไป

อ.ทิพสุดา คิดเลิศ นำเสนอเทคนิคการจัดการเรียนการสอนกำแพงเพชร โดยแต่ละสัปดาห์จะมีการจัดประชุมทีมผู้สอนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้สอน เช่น การผลิตสื่อจากธรรมชาติ ซึ่งผู้เรียนศูนย์กำแพงเพชร มีผู้เรียนที่เป็นกลุ่มชาวเขา ทีมผู้สอนควรดึงจุดเด่นในส่วนนี้ออกมา แล้วนำไปสร้างนวัตกรรมด้านไอทีใช้ประกอบการสอนใหม่ๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของตนต่อไป ส่วนที่สองคือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น สถานที่ท่องเที่ยว ประเพณีสำคัญ แล้วนำมาผลิตสื่อเพื่อนำเสนอจุดเด่นของตนเอง ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิดสื่อ ได้เรียนรู้การนำเสนอโดยใช้เทคโนโลยี ผ่านไอแพด การใช้ keynote iMovie แล้วบูรณาการความรู้ผ่านงานสื่อ ทำให้เห็นประโยชน์และคุณค่าของ ไอแพด ที่เป็นสื่อการเรียนชิ้นสำคัญของตนเอง ช่วงบ่าย กำแพงเพชร : ชม โชว์ แชร์ “นิทรรศการสื่อสร้างจากวัสดุท้องถิ่นในภูมิภาค”

อ.ศัชชญาส์ ดวงจันทร์ ในส่วนของนครศรีธรรมราช นำเสนอข้อคิดและแนะนำให้แทรกเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมและความเป็นครูผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ตลอด  เนื่องจากผู้สอนเห็นการเคลื่อนไหวการแสดงออกของผู้เรียนแบบออนไลน์ตลอดเวลา ซึ่งมีหลายครั้งที่ข้อความหรือพฤติกรรมการใช้งานที่ไม่เหมาะสมกับวิชาชีพครู โดยเฉพาะครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยให้ความรู้และตักเตือนเรื่องการตั้งชื่อที่ไม่เหมาะสม การพิมพ์ข้อความที่ไม่ถูกกาลเทศะ ข้อความล้อเล่นแต่อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นอกจากนี้ยังได้แนะนำคลิปวิดีทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่น มอนเตสซอรีวิถีไทย

ดร.วัชรพล วิบูลยศริน แนะนำเทคนิคการถอดบทเรียนของนครราชสีมา ระบุหน้าที่ของผู้สอนที่จะต้องพยายามดึงความรู้ฝังลึกของผู้เรียนออกมาผ่านการตั้งคำถามหรือให้ผู้เรียนบอกเล่าสิ่งที่ดำเนินการ ปัญหา/อุปสรรค และวิธีการแก้ไขของเขา  ซึ่งวิธีการของผู้เรียนแต่ละคนที่ใช้แล้วได้ผลดีจะเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) แล้วจึงนำมาสรุปร่วมกัน สิ่งที่พบและน่าสนใจ คือ เทคนิคของผู้เรียนในการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น ก่อนกนำแบบสัมภาษณ์/ แบบสำรวจไปถาม ผู้เรียนจะอธิบายคำศัพท์เฉพาะก่อน หรือบางคนเปิดวิดีโอทำความเข้าใจกับผู้ปกครองก่อนว่านวัตกรรมคืออะไร สิ่งที่ผู้เรียนกำลังทำอยู่คืออะไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น

ดร.ศุภกร ปรุงศิลป์ชัย แนะนำการใช้นิทานกระบวนการคิดตามแนวคิดของละออโมเดล ซึ่งนำไปใช้จริงกับเด็กที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยนำเสนอผ่าน iMovie ให้เด็กได้ดู ตั้งคำถามและบันทึกพฤติกรรมของเด็กหลังจากดูนิทาน สิ่งที่ผู้เรียนได้รับ คือ (1) ความเข้าใจในรูปแบบการเรียนการสอนแบบละออโมเดล (2) .ความเชี่ยวชาญในการใช้ไอแพดเพื่อผลิตผลงาน  (3) ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดรูปแบบใหม่ในการเรียนการสอน เกิดความคิดในการต่อยอดและเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลกับชีวิตจริงได้เป็นอย่างดี

อ.พนม สุวรรณประเทศ ส่วนของเชียงราย แนะนำแอปพลิเคชันที่น่าสนใจที่จะถูกปล่อยออกมาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในบางช่วงเวลา เช่น PDF Reader Premium, Scanbot, My PDF Creator& Document Editor, Air Scanner, Video Downloader Pro รวมทั้งเทคนิคการใช้งาน iPad ต่างๆ

คณาจารย์จากมหาสารคาม แนะนำเทคนิคการกรอกข้อมูลในระบบออนไลน์สำหรับบางพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องระบบเครือข่ายให้กรอกข้อมูลใน Note หรือ Pages ก่อนแล้วจึงคัดลอกข้อมูลไปวางในแบบฟอร์มออนไลน์ต่างๆ รวมถึงแนะนำแอปพลิเคชันที่ช่วยให้จังหวะในกิจกรรมสงบหรือเพลงที่ต้องมีท่าทาง ที่มีชื่อว่า Metronome และ คลิป Brain gym hands

คณาจารย์จากส่วนกลางในกรุงเทพ แนะนำนวัตกรรมการสอน ที่เกิดจากการประยุกต์การใช้งานร่วมกันระหว่างไอแพดกับวิชวลไลเซอร์  โดยผู้สอนใช้เครื่องวิชวลไลเซอร์สาธิตการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆบนไอแพดและพบว่าผู้เรียนเห็นภาพการเลือกใช้คำสั่งต่างๆ บนหน้าจอไอแพดชัดเจนกว่าการใช้แอปเปิลทีวีซึ่งจะเห็นเฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้งานของผู้สอน

คณาจารย์จากสุพรรณบุรี แนะนำการวิธีการสอนสำหรับศูนย์ที่ระบบเครือข่ายยังไม่เสถียร เนื่องจากการปริมาณการใช้งานระบบเครือข่ายพร้อมๆ กันในชั้นเรียนอาจประสบปัญหาการใช้งาน ควรให้ผู้เรียนศึกษากิจกรรมใน iTunes U และดาวน์โหลดข้อมูลต่างๆ ให้พร้อมก่อนเข้าชั้นเรียน การแบ่งโชนทำกิจกรรมเพื่อสลับการใช้งานระบบเครือข่ายเป็นกลุ่มจะทำให้เกิดการใช้งานระบบเครือข่ายได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อการใช้งาน นอกจากนี้การให้กำลังใจและกระตุ้นผู้เรียนผ่าน Line จะช่วยได้ทั้งการสร้างความมั่นใจและช่วยลดความเครียดของผู้เรียนและทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนอีกด้วย

คณาจารย์จากศูนย์ตรัง แนะนำเทคนิคการสอนตามแนวคิดละออโมเดล ที่มุ่งเน้นการใช้นิทานในการดำเนินเรื่อง โดยผู้สอนได้ให้ผู้เรียนนำนิทานจากศูนย์พัฒนาเด็กคนละ 1 เล่ม มาสรุปให้สอดคล้องแนวคิดของละออโมเดล เน้นให้ผู้เรียนฝึกเล่านิทานให้มีความสนุกสนานและมุ่งเน้นการตั้งคำถามที่ถูกต้อง เพื่อให้เด็กๆ สามารถตอบคำถามได้ถูกต้องตามรูปแบบนิทาน ทั้งนี้คำถามในการตั้งมีความสำคัญเพื่อเด็กรู้จักคิดรู้จักพัฒนาแนวคิดได้มากยิ่งขึ้น

อ.ธีระบุญ เดชอุดม  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาใช้งาน iTues U ซึ่งเกิดปัญหาขึ้น ศูนย์ลำปาง  เนื่องจากมีการจัดส่งข้อมูลขึ้น iTunes U สำหรับผู้เรียนเรียบร้อยแล้ว แต่ข้อมูลในเครื่องไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถเรียกดูกิจกรรมและแหล่งเรียนรู้ใน iTunes U ในสัปดาห์นั้นได้  จึงแนะนำให้ทำการปิดระบบการใช้งานอื่นๆ ก่อน จากนั้นจึงทำการปิดและเปิดการตั้งค่าอับเดตข้อมูลใหม่ เพื่อให้มีการดึงข้อมูลจากส่วนกลางเข้ามาใหม่

ศูนย์อุบลและศรีสะเกษ แนะนำเทคนิคการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นโดยใช้ทั้งการสำรวจและสัมภาษณ์ โดยให้ผู้เรียนร่วมกันออกแบบแบบสำรวจ/สัมภาษณ์ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมและสื่อปฐมวัยเป็นกลุ่มและตรวจสอบโดยผู้สอนก่อนนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การเก็บรวบรวมข้อมูลควรใช้ทั้งแบบสอบถามออนไลน์และการบันทึกการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทั้งผู้ปกครอง ผู้บริหารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมถึงบุคลากรของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในรูปแบบวิดีทัศน์ จะทำให้เด็กได้ฝึกฝนทั้งทักษะการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและเทคนิคการตั้งคำถามกับบุคคลในแต่ละระดับทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ  ซึ่งวิดีทัศน์ผลการปฏิบัติงานต่างๆ สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลอภิปรายร่วมกันในชั้นเรียนเพื่อวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนและเป็นต้นแบบของผู้เรียนคนอื่น โดยใช้ข้อมูลตามสภาพจริงของผู้เรียน

อ.สร้อย ไชยเดช ในส่วนของอุตรดิตถ์เสนอให้เน้นเรื่อง กฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากกฎหมายเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องรู้ ประกอบกับในหลักสูตรนี้ผู้เรียนมีเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ง่าย การใช้งานจึงต้องอยู่ในกฎและกรอบการใช้งานอย่างถูกวิธีเพื่อเป็นการป้องกันและปรามผู้เรียนให้ใช้งานในขอบเขตที่เหมาะสม

ดร. อมรรวรรณ ลิ้มสมมติ แนะนำวิธีการนำข้อมูลจากโปรแกรมต่างๆ เช่น Keynote เข้าใช้งานใน Facebook ต้องใช้งานผ่านแบราเซอร์ ซึ่งการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันจะไม่สามารถใช้งานคำสั่งต่างๆ ของ Facebook ได้อย่างเต็มรูปแบบ และการส่งงานเข้า DropBox จะช่วยให้ผู้เรียนมั่นใจว่าข้อมูลของผู้เรียนได้ถูกจัดเก็บแล้ว เนื่องจากการใช้งานในไอแพดเป็นการบันทึกข้อมูลโดยอัตโนมัติ ผู้เรียนไม่คุ้นชินกับการบันทึกอัตโนมัติทำให้ขาดความมั่นใจกลัวว่างานที่ทำไว้จะสูญหาย

ดร.จิระ จิตสุภา และคณาจารย์ในศูนย์นครนายก แนะนำเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางการศึกษา ที่ต้องคำนึงถึงความมั่นคง ความพร้อมใช้ ความลับ การห้ามปฏิเสธความรับผิดชอบและการควบคุมการเข้าถึงข้อมูล  โดยให้ระวังการใช้งานของผู้เรียนในเรื่องการคัดลอกผลงาน การสำรองข้อมูลเพื่อป้องกันการสูญหายของข้อมูลสำหรับผลงานของผู้เรียนที่พัฒนาขึ้นในภาคเรียนนี้

นี่เป็นเพืยงส่วนหนึ่ง ที่ได้จากการพูดคุยกันผ่าน Line ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ทำให้เห็นเทคนิคการสอนที่หลากหลาย และน่าสนใจของแต่ละพื้นที่ สามารถนำมาปรับใช้งานได้ดีทีเดียว นับว่าเป็นวิธีการใช้สือสังคมที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่งทีเดียว

 

Copyright © 2019. All rights reserved.